Last updated: 21 ก.ค. 2564 | 2821 จำนวนผู้เข้าชม |
พระอาจารย์สุรพจน์ สัทธาธิโก ::
" คิด " กับ " เห็น" เป็นคำพูดที่ได้ยินคู่กัน ตัวความคิดเป็นส่วนที่ละเอียด แต่ความเห็นละเอียดอ่อนกว่า ซึ่งทั้งสองเป็นส่วนของปัญญาทั้งคู่ในสัมมาทิฏฐิ ดังนั้น เวลาพูด .. ได้ยินว่า "คิดเห็น" ก็พูดจากหยาบไปละเอียด
ในอริยมรรค คือ หนทางซึ่งเดินไปสู่การดับทุกข์สิ้นเชิงนั้น จะขึ้นต้นด้วยการ มีความเห็นที่ถูกต้อง คือ เห็นอริยสัจ คือ เห็นความจริง การเห็นจึงไม่ใช่การคิดนึกเดาเอาเอง
เหมือนขับรถไปในที่มืด มีไฟส่องทาง ก็เห็นเส้นทาง เมื่อเห็นเส้นทาง ความคิดก็คิดตามที่เห็น ว่าถนนเรียบ .. ไปได้ ถนนขรุขระ ต้องขับเบาหน่อย ถนนตรง ก็เร็วได้ ถนนโค้ง ก็ต้องขับช้าลง ตัวคิด .. ก็คิดตามที่เห็นอยู่
แต่ถ้าไม่เห็น ก็มีแต่คิด .. เหมือนขับรถ ไม่มีไฟส่องทางในที่มืด ก็ไม่เห็นหนทาง ก็ขับไปแบบไม่เห็นทาง ความคิดก็คิดนึกเดาเอาเอง ว่าถนนเรีบบ ขรุขระ ตรง หรือโค้ง คิดเอาเอง แต่ไม่เห็นตามความเป็นจริง
อุปมานี้ฉันใด ผู้มีความเห็นที่ถูกต้อง ก็เหมือนคนขับรถมีไฟส่องนำทาง คือได้ เห็นความจริง ความคิด ก็คิดไปในสิ่งที่เห็น คำพูดก็พูดไปตามที่เห็นจริง การกระทำก็ทำไปตามที่เห็นจริง
ตรงกันข้าม ผู้มีความเห็นไม่ถูกต้อง(เห็นผิด) หรือ ไม่เห็นตามความเป็นจริง เหมือนคนขับรถในที่มืด ไม่มีไฟส่องนำทาง เมื่อไม่เห็นเส้นทางตามความเป็นจริง (เห็นผิดจากความจริง)
คำพูด .. ก็พูดไปตามที่เห็น ผิดจากความจริง การกระทำก็ทำไปตามที่เห็นผิดจากความจริง คลาดเคลื่อนไปจากความจริง ดังนั้นอาชีพจึงไม่บริสุทธิ์
เราจะทราบได้อย่างไรคะว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นความจริง
การเห็นความจริง และเห็นถูกต้อง ต้องเห็นความจริง ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ว่าใครจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ
ความจริงนั้นต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลง ที่เห็นนั้นเป็นไปเพื่อชนะความโลภ โกรธ หลง ข้าศึกภายในตนเอง
นี่คือความจริง .. เห็นว่ามีทุกข์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ .. อะไรคือทุกข์ .. ความเกิด แก่ เจ็บและตาย การพลัดพรากจากของรัก สรุปโดยย่อคือ "อุปาทานขันธ์ 5" เป็นตัวทุกข์
นี่คือความจริงที่เห็นว่า นี่คือการดับทุกข์ การดับสิ้นไปแห่งการเกิดทุกข์ ความทำให้แจ่มแจ้ง
เมื่ออวิชชาดับ ชาติ คือความเกิดก็ดับ (อุปาทานขันธ์ 5) ดับ ชรามรณะก็ดับ ทุกข์ทั้งปวงก็ดับ
นี่คือความจริง เห็นว่า นี่คือหนทางสู่การดับทุกข์ หนทางนี้ควรทำให้มาก ควรเจริญให้มาก คือสมาธิวิปัสสนา คือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา คืออริยมรรคมีองค์ 8
เห็นความไม่เที่ยง เห็นทุกข์ เห็นอนัตตา เห็นความจริงว่า อุปาทานขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
เมื่อมีความเห็นถูกต้องเช่นนี้ ความคิด ซึ่งเกิดขึ้นในลำดับต่อไปจากการเห็น .. ความคิด ก็คิดตามที่เห็น จึงคิดที่จะออกจากความพยาบาท ด้วยการมีเมตตา คิดจะออกจากการเบียดเบียน ด้วยการมีกรุณา เพราะความคิดนี้เป็นความคิดที่เนื่องด้วยการเห็นตามความเป็นจริง คิดเพื่อที่จะชนะข้าศึก คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลงภายในตนเอง
4 ก.พ. 2567
29 พ.ค. 2567
22 มี.ค. 2565
21 มี.ค. 2565