Last updated: 21 ก.ค. 2564 | 5893 จำนวนผู้เข้าชม |
พระอาจารย์ สุรพจน์ สัทธาธิโก ::
เรื่องสุขที่ทุกคนใฝ่หา .. พระพุทธองค์ผ่านมาหมดแล้ว ได้มาหมดแล้ว แต่ทรงออกไปหาสิ่งที่สูงส่งกว่านั้น เพราะเห็นว่า ความสุขที่มีอยู่นั้น มีการเปลี่ยนแปลง จึงไปหาสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ที่พระองค์พูดเรื่องทุกข์ เพราะทรงเห็นแล้วว่า ทุกคนที่พระองค์รัก ไม่ว่าพระบิดา พระมารดา พระนางพิมพา พระราหุล หรือแม้แต่พระองค์เอง ก็ต้องแก่ .. มีความแก่กันทุกคน ต้องเจ็บ .. หนีความเจ็บไปไม่พ้น
ต้องตาย.. หนีความตายไปไม่พ้น ความหวาดหวั่นในการที่จะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เกิดขึ้น ทั้งจากของรัก และต้องจากตัวเราเอง ..
"แม้แต่ตัวเรา ก็ต้องตายด้วยหรือนี่? " นี่เป็นจุดเริ่มต้นของอริยสัจ พระองค์ไม่ได้ให้กลัวทุกข์ ไม่ได้ให้หนีทุกข์ แต่ให้กำหนดรู้ทุกข์นั้น
พระองค์คิดอยู่ว่า คนเราต้องแก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรัก อะไรเป็นสาเหตุ?
อ๋อ.. การเกิดนั่นเอง .. การเกิดเป็นสาเหตุนั่นเอง เพราะคนเราเมื่อเกิดมาแล้วจึงต้องตาย
ดังนั้น สาเหตุของการตาย ความเจ็บทั้งหลายนั้น มาจากการเกิดนั่นเอง..
แล้วทำไมการเกิดเป็นทุกข์ ทั้งที่นำความยินดีมาให้
การเกิด ในความหมายของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร?
ที่พระพุทธองค์บอกว่า ชาติ..การเกิดเป็นทุกข์นั้น หมายถึง
เมื่อเกิดแล้ว ก็จะพาเอาความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ความทุกข์โศกทั้งหลายมาด้วย
พระองค์จึงกล่าวว่า การเกิดเป็นทุกข์ เพราะพระองค์พูดถึงตัวสุดท้าย
เหมือนที่พระองค์ตรัสว่า ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ... คนทั้งหลายก็สงสัยว่า ทำไมที่ใดมีรัก ที่นั่นจึงมีทุกข์ ถ้ามีทุกข์ ทำไมคนทั้งโลกถึงหาความรัก ทำไมต้องรักกัน?
ที่พระองค์ตรัสอย่างนี้ คือ .. ให้เห็นถึงที่สุด เพราะเมื่อของรักทั้งหลายต้องพลัดพรากไป ทุกข์ทั้งหลาย จึงเกิดขึ้น ไม่เราจากเขาไป .. เขาก็ต้องจากเราไปไม่วันใดวันหนึ่ง
คนเพลิดเพลินอยู่กับความสุขภายนอก..ทางโลก ลืมนึกไปว่า
คนที่เกิดมาแล้วต้องตาย คนเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ต้องแก่
คนแข็งแรง สุขภาพดีก็ต้องเจ็บ .. ประมาทว่า เกิดมาแล้วไม่ตาย
ลืมไปว่า การเกิดนั้น ก็มีความตายมาด้วย
ในความสุข เป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น ก็มีความแก่มาด้วย
ในความพอใจที่มีความแข็งแรง มีกำลัง .. ก็มีความเจ็บป่วยมาด้วย
พระพุทธองค์จึงไม่ให้ประมาทในชีวิต ทำชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีค่า จึงทรงชี้เข้าไปที่เรื่องทุกข์ เพื่อตักเตือนคนที่กำลังอยู่ในความสุข ให้กลับมามองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นให้ชัดเจนว่า .. เรากำลังละเลยสิ่งสำคัญอะไรไปหรือเปล่า
21 มี.ค. 2565
4 ก.พ. 2567
22 มี.ค. 2565
29 พ.ค. 2567