Last updated: 21 ก.ค. 2564 | 3278 จำนวนผู้เข้าชม |
พระอาจารย์สุรพจน์ สัทธาธิโก ::
อย่างนี้เดี๋ยวจะให้เรียนรู้กัน สมมุติว่าเราเครียดปวดหัว ดุลูกน้อง ดุลูกๆ เครียดมั้ย? เครียด.. ปวดหัวมั้ย? ปวดหัว.. อยากหายปวดหัวมั้ย อยากหายเครียดมั้ย? ถ้ามีวิธีที่จะทำให้หายเครียดและหายปวดหัว น่าสนใจมั้ย? ถ้าทั้งสามารถยังดุอยู่ แต่ไม่ปวดหัวนี่ดีมั้ย ทั้งที่ยังดุอยู่ แต่ก็ไม่โกรธ ดีมั้ย?
สังเกตนะ.. เมื่อเราฝึกจิตไปแล้ว เรียนรู้เรื่องกระแสไปแล้ว ให้รู้ว่ามีทั้งกระแสข้างใน กระแสที่เชื่อมออกข้างนอก คราวนี้ลองสังเกตดู เหมือนเราดุแล้วปวดหัว เพื่อให้เห็นชัด . จำลองสถานการณ์จริงขึ้นมาให้เห็น
คราวนี้ลองดุ เหมือนดุลูกซิ ดุคำว่า “ดื้อ” ซิ
คำว่า “ดื้อ” เปิด volume เบอร์ 3 พอ 1 2 3 ดื้อ .. อย่าดื้อแบบก้มตาสบายๆไม่ใช่ เหมือนเราดุเด็กจริงๆ ตาเรามองหน้า แล้วเราก็พูดออกมา ..ดื้อ! นั่น อย่างนั้น ปกติ แต่เราใช้เสียงให้ธรรมดา ..ดื้อจริงๆ รู้สึกยังไง? ตึงตรงไหน? ..ท้ายทอย .. ศีรษะ เล็กน้อยเห็นมั้ย แต่ก็หนักๆมั้ย .. หนักขึ้น ต่อไป volume เบอร์ 5 ... ดื้อ!! เห็นมั้ย แรงขึ้น รู้สึกเป็นยังไง หนักขึ้นไปที่หัว ชัดเจนมั้ย? ชัดเจน .. คราวนี้ volume เบอร์ 7 1 2 3 ..ดื้อ !!! รู้สึกยังไง เต็มหัวเลย.. | |
แล้วถ้า volume เบอร์ 10 ล่ะ ... ดื้อ !!!!! เป็นไง? เต็มหัว เต็มคอไปหมด ปวดหัวมั้ย? ..ปวดหัว |
อ้าว .. แล้วนี่เราคิดผิดหรือนี่ ในการที่คิดผิด แต่ตอนนี้เรามาเจอสิ่งที่จริง มันมีข้อดียังไง ไม่ใช่เราผิดนะ ไม่ใช่เรากล่าวหาลูก แต่เราเห็นผิดไป เรานึกว่าที่เราปวดหัวเพราะลูก มันก็แก้ไม่ได้ถ้าลูกยังไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เราก็ทุกข์อยู่ชั่วชีวิต
เราเรียนรู้เรื่องกระแสแล้วว่า จริงๆคำพูดมันก็มีกระแส ในความที่บอกว่าดื้อนี่ มันมีความอึดอัด ขัดเคือง ไม่พอใจอยู่ในความรู้สึกของคำพูดที่เปล่งออกไป เรียกว่า กาย วาจา ใจ ดังนั้นพอเราเปลี่ยนความรู้สึก อยู่ในความรู้สึก เรียกว่า มีธรรมเป็นที่พึ่งที่เกาะ รู้สึกข้างในไว้..
คราวนี้ ..หงายมือไว้ เรารู้จักกระแสใช่มั้ย ? ทีนี้ แทนที่จะเอากระแสกระแทกขึ้นไปบนศีรษะ มันจะปวดหัว เพราะกระแสมันวิ่งขึ้นไป คราวนี้เราถ่ายกระแสมาที่อื่นซะ
หงายมือไว้นะ ทั้งสองมือ แล้วพูดคำว่า.. ดื้อ.. ซิ เอา volume เบอร์ 3 ..ดื้อ! รู้สึกที่ไหน? ..ที่มือเบาๆ ที่หัวมีมั้ย? ถ้าที่หัวยังมี แสดงว่าเราเอาไปกระแทกเหมือนเดิม .. ไม่ใช่นะ ต้องผ่อนมาที่มือ
บางคนรู้สึกที่คอ แสดงว่าตะโกนกระแทกเข้าไปที่คอ ผ่อนลงมาที่มือซะ หงายมือไว้ เหมือนเราจะให้ทางน้ำวิ่งไปทางไหนเท่านั้นเอง 1 2 3 ..ดื้อ! รู้สึกยังไง? กระแสค่อยๆไหลไปที่มือ ศีรษะเบาขึ้นมั้ย? เบาขึ้นนะ..
คราวนี้ volume เบอร์ 5 ต้องให้รู้จักกระแสที่ไหลถูกต้องก่อนนะ .. ดื้อ!! กระแสไปที่ไหน? ..ที่มือ สบายอยู่มั้ย ? ใช้ได้ ทีนี้ volume เบอร์ 7 ..ดื้อ!!! รู้สึกเป็นยังไง? แรงขึ้น แต่ก็เบาสบาย
volume เบอร์ 10 เลย .. ดื้อ!!!!! เป็นไง? ที่มือแรงเลย แต่ศีรษะก็ยังโล่งอยู่ .. ถึงจะใช้ยืนก็แบบเดียวกันนะ เราก็ปล่อยมือออกข้างๆลำตัว แล้วก็ .. ดื้อ!!!!! คือ เรายังดุเหมือนเดิม เพื่อให้รู้ว่า..อย่างนี้ใช้ไม่ได้นะ .. ดุแต่ไม่ได้โกรธ ที่เขาเรียกว่า อย่ามาใช้อารมณ์ นี่ไง ..
พอ.. ดื้อ!!! ปุ้ป กระแสก็ปล่อยไปข้างๆ กระแสตรงนี้ก็ไม่ไปกระแทกเขา ไม่กระแทกตัวเอง ปล่อยไป แต่ก็ให้รู้ว่า ดุอยู่นะ สิ่งนี้ทำไม่ถูกต้องนะ แต่ไม่ได้ใช้อารมณ์กับเขา ไม่ได้ใช้ความโกรธไปกระแทกเขา
ดังนั้น คนที่คุยกันไม่เข้าใจเพราะอะไร เพราะว่าใส่อารมณ์ต่อกัน เอาอารมณ์กระแทกและอารมณ์ไม่เป็นที่สบายกับจิต คราวนี้เรายั้งไม่ได้ แต่เราปล่อยออกในทิศทางที่ถูกต้องได้ เหมือนปล่อยน้ำเสียออกไปอย่างนี้ ไม่เอาไปสาดใส่คนอื่น ปล่อยออกไปข้างๆ ตัวเองก็สบายด้วย ถ่ายกระแส ถ้าอั้น ไม่พูดก็ทนไม่ได้ ปวดหัว เพราะกระแสมันอั้นอยู่ข้างใน
คราวนี้พอเราถ่ายเทกระแสออกไปปุ้ป ตัวเราก็สบาย แต่กระแสนี้ก็ไปรบกวนคนอื่น เหมือนปล่อยน้ำจากโรงงานที่เสียไป ไม่ปล่อยทิ้งลงน้ำทะเล บำบัดน้ำทิ้งก่อน .. รู้สึกวึ้บ..ออกไป ออกไปด้วยความรู้สึก รู้สึกตัวเห็นมั้ย? สัมปชัญญะรู้สึกอยู่ เห็นอยู่ เราไม่ได้มีแค่สติใช้กั้นกระแสอย่างเดียว แต่มีสัมปชัญญะ มีปัญญา “เห็น” แล้วมันปล่อยตัวมันเองเลย
เห็นว่า..อารมณ์นี้ไม่ใช่ของเรา เราห้ามมันไม่ได้ แต่เราจัดการไปในทางที่ถูกต้องได้ นี่เรียกว่า ..ใช้ข้างนอก เราเข้าใจแล้ว อ๋อ .. แต่ก่อนเรานึกว่า ปวดหัวเพราะลูก อย่างนี้แสดงว่าถ้าคนอื่นยังไม่เปลี่ยนแปลง เราก็แก้ไขไม่ได้ แต่จริงๆที่ปวดหัวเพราะอะไร?
เพราะเสียงเรา เพราะความคิด เพราะความรู้สึกที่มันกระแทกใส่ตัวเอง นี่เรียกว่า ตนเองทำร้ายตนเองโดยไม่รู้ตัว
พระพุทธองค์ตรัสไว้ เรื่องมัน เกิดตรงไหน มันก็ดับตรงนั้น ทุกข์ที่เกิดขึ้น มันเกิดอยู่ภายในนี่เอง ดับทุกข์ก็ดับตรงนี้เห็นมั้ยว่า ถึงลูกจะเป็นอย่างนี้ สามีเป็นอย่างนี้ ใครจะเป็นยังไง แต่เราสามารถจบเรื่องทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง
1 มิ.ย. 2567
29 พ.ค. 2567
29 พ.ค. 2567
29 พ.ค. 2567